(Sport)

บทความที่ได้รับความนิยม

วันจันทร์ที่ 29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

ประวัติกีฬาปันจักสีลัต

ประวัติกีฬาปันจักสีลัต

ปันจักสีลัต (Pencak Silat) เป็นคำที่มาจากภาษาอินโดนีเซียมาจากคำว่า ปันจัก (Pencak) หมายถึงการป้องกันตนเอง และคำว่า สีลัต (Silat) หมายถึงศิลปะ รวมความแล้วหมายถึงศิลปะการป้องกันตนเอง กีฬาประเภทนี้เดิมเป็นศิลปะการต่อสู้ของคนเชื้อสายมาลายู ในภาคพื้นเอเชียอาคเนย์ ได้แก่ มาเลเซีย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ บรูไน และพื้นที่ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ของประเทศไทย คือ ปัตตานี ยะลา สตูล นราธิวาส และสงขลา เรียกว่า “สิละ” “ดีกา” หรือ “บือดีกา” เป็นศิลปะการต่อสู้ด้วยมือเปล่าเท้าเปล่า เน้นให้เห็นลีลาการเคลื่อนไหวที่สวยงาม มีบางท่านกล่าวว่า สิละมีรากคำว่า ศิละ ภาษาสันสกฤต

ทั้งนี้เพราะดินแดนของมลายูในอดีตเคยเป็นดินแดนอาณาจักรศรีวิชัย ที่มีวัฒนธรรมอินเดียเข้ามามีบทบาทที่สำคัญ จึงมีคำสันสกฤตปรากฏอยู่มาก ประวัติความเป็นมาของปันจักสีลัตนั้น มีตำนานเล่าต่อกันมาหลายตำนาน ซึ่งมีส่วนตรงกันและแตกต่างกันบ้างโดยเฉพาะต้นกำเนิดของกีฬาประเภทนี้ซึ่ง เขียนขึ้นอยู่กับแต่ละประเทศที่ได้เขียนมา อินโดนีเซียเล่าไปอย่างหนึ่ง มาเลเซียก็เล่าไปอีกอย่างหนึ่ง ซึ่งผู้เขียนจะได้นำเสนอในโอกาสต่อไป แต่สำหรับครั้งนี้จะขอนำบทความส่วนหนึ่งที่เขียนโดย อาจารย์ประพนธ์ เรืองณรงค์ อดีตอาจารย์มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เรื่องสิละมวยไทยมุสลิม เพื่อเป็นการศึกษาในเรื่องสิละที่ชาวไทยมุสลิมในจังหวัดทางภาคใต้รู้จักกัน ดี

ท่ารำกำเนิดจากช่อดอกบอมอร์ในกระแสน้ำวน
Mubin Sheppard ได้กล่าวถึงตำนานสิละไว้ว่า การต่อสู้แบบสิละมีมาตั้งแต่ 400 ปีมาแล้วโดยกำเนิดที่เกาะสุมาตรา ต่อมาผู้สอนได้ดัดแปลงแก้ไขให้เข้ากับยุคสมัย ตำนานว่า สมัยหนึ่งสามสหายเชื้อสายสุมาตรา ชื่อ บูฮันนุดดิน ซัมซุดดิน และฮามินนุดดิน เดินทางจากมินังกาบัง ฝั่งตะวันตกของเกาะสุมาตราไปศึกษาวิทยายุทธ ณ เมืองอะแจ ซึ่งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของสุมาตรา สำนักวิทยายุทธนั้นอยู่ใกล้สระน้ำใหญ่ น้ำในสระไหลมาจากหน้าผาสูงชัน ริมสระมีต้นบอมอร์ ออกดอกสีม่วงสดกลมกลืนกับสีนกกินปลา ซึ่งถลาร่อนเล่นน้ำเนืองนิตย์ วันหนึ่ง ฮามินนุดดินไปตักน้ำที่สระแห่งนั้น เขาสังเกตเห็นว่าแรงน้ำตกทำให้น้ำในสระเป็นระลอกคลื่นหมุนเวียน และที่น่าทึ่งคือ ดอก บอมอร์ช่อหนึ่ง ซึ่งหล่นจากต้น ถูกน้ำพัดตกลงกลางสระแล้วจึงถอยย้อนกลับไปใกล้ตลิ่งลอยไปลอยมา เช่นนี้ประหนึ่งว่ามีชีวิต จิตใจ ฮามินนุดดิน เพิ่มความพิศวงถึงกับวางกระบอกไม้ไผ่ซึ่งบรรจุน้ำ แล้วจ้องมองดอกไม้ในสระเป็นเวลานาน จากนั้นชายหนุ่มรีบคว้าดอกไม้ช่อนั้นกลับมา เขาได้นำลีลาการลอยของดอกบอมอร์มาประยุกต์สอนการร่ายรำให้แก่เพื่อนทั้งสอง และช่วยกันคิดวิธีเคลื่อนไหวโดยอาศัยแขนขา เพื่อป้องกันฝ่ายปรปักษ์ วิชาสิละจึงเกิดขึ้นด้วยประการฉะนี้

เมื่อสามสหายเดินทางกลับถิ่นเดิมแล้ว ต่างตั้งตัวเป็นครูสอนวิทยายุทธและศาสนาอิสลาม ปรากฏว่ามีผู้สนใจสมัครฝึกฝนการต่อสู้แบบสิละจนเป็นที่แพร่หลายออกไปตาม ลำดับ เมื่อจะฝึกสิละ ผู้สมัครใจต้องนำไหว้ครู โดยนำผ้าขาว ข้าวสมางัด ด้ายขาว และแหวน 1 วง มามอบให้กับครูฝึก ผู้เป็นศิษย์ใหม่จะต้องมีอายุไม่น้อยกว่า 15 ปี ระยะเวลาที่เรียน 3 เดือน 10 วัน จึงจะจบ หลักสูตรการสอนนั้นจะมีครูสิละคนหนึ่งต่อศิษย์ 14 คน ในรุ่นหนึ่ง ๆ ผู้ที่เก่งที่สุดจะได้รับแหวนจากครู และได้รับเกียรติเป็นหัวหน้าทีมและสอนแทนครูได้ การแต่งกายของนักสิละเท่าที่สังเกตมุ่งที่ความสวยงามเป็นประการสำคัญ เช่น มีผ้าโพกศีรษะ สวมเสื้อคอกลมหรือคอตั้ง นุ่งกางเกงขายาว แล้วมีผ้าโสร่งเรียกผ้าชอเกตลาย สดสวยสวมทับพร้อมกับมีผ้าลือปักคาดสะเอวหรือมิฉะนั้นก็คาดเข็มขัดทับโสร่ง ให้กระชับ นอกจากนั้นเหน็บกริชตามฉบับนักสู้ไทยมุสลิม

เครื่องดนตรีสิละประกอบด้วยกลองยาว 1 ใบ กลองเล็ก 1 ใบ ฆ้อง 1 คู่ และปี่ยาว 1 เลา เมื่อนักสิละขึ้นบนสังเวียนแล้ว ดนตรีจะประโคมเรียกความสนใจคนดู โดยเฉพาะเสียงปี่เร้าอารมณ์ไม่ยิ่งหย่อนกว่ามวยไทย การไหว้ครูแบบสิละนั้น เขาไหว้ทีละคน วิธีการไหว้ครูแต่ละสำนักแตกต่างกันไป สังเกตว่าขณะรำไหว้ครูนั้น นักสิละจะทำปากขมุบขมิบว่าคาถาเป็นภาษาอาหรับ และที่สำคัญคือขอพรสี่ประการ สรุปเป็นภาษาไทยดังนี้
o ขออโหสิกรรมแก่คู่ชิงชัย
o ขอให้ปลอดภัยจากปรปักษ์
o ขอให้เป็นที่รักแก่เพื่อนบ้าน
o ขอให้ท่านผู้ชมนิยมศรัทธา
เริ่มต้นด้วยการสาลามัต
ก่อนนักสิละลงมือต่อสู้ ทั้งคู่จะทำความเคารพกันและกัน เรียกว่า “ สาลามัต” คือต่างสัมผัสมือแล้วแตะที่หน้าผาก หลังจากนั้นจึงเริ่มวาดลวดลายร่ายรำตามศิลปะสิละ บางครั้งนักสู้ต่างกระทืบเท้าให้เกิดเสียงหรือมิฉะนั้นเอาฝ่ามือตีที่ต้นขา ของตนเอง เพื่อให้เกิดเสียงข่มขวัญปรปักษ์ เมื่อรำไปรำมา หรือก้าวไปถอยมา ประหนึ่งว่าเป็นการลองเชิงพอสมควรแล้วต่างหาทางพิชิตคู่ต่อสู้ คือหาจังหวะให้มือฟาดหรือใช้เท้าดันร่างกายฝ่ายตรงกันข้าม จังหวะการประชิดตัวนั้นดูเหมือนว่าจะห้ำหั่นกันชั่วฟ้าแลบ ขณะนั้นดนตรีก็โหมจังหวะกระชั้น พลอยให้คนดูระทึกใจ ฝ่ายใดทำให้คู่ต่อสู้ล้มลงหรืออาศัยการตัดสินจากผู้ดูรอบสนามว่าเป็นเสียง ปรบมือให้ฝ่ายใดดัง ฝ่ายนั้นเป็นฝ่ายชนะ

กติกาข้อห้ามที่นักสิละต้องเว้น ได้แก่ ห้ามเอานิ้วมือแทงตาคู่ต่อสู้เพราะต่างไม่สวมนวมและไม่กำมือแน่นอย่างชกมวย ไทยหรือมวยสากล ถัดมาคือห้ามบีบคอ ห้ามต่อยแบบมวยไทย เช่น ใช้ศอก และเข่า

กระบวนชั้นเชิงสิละ ตามที่ Mobin Shoppard เขียนไว้ในหนังสือ Teran Mndera มีมากมายหลายท่าเช่น
o ซังคะ ตั้งท่าป้องกัน
o ลังคะดาน ท่ายืนตรงพร้อมต่อสู้
o ลังคะทีฆา ท่ายกมือป้องกัน คือมือขวาปิดท้องน้อยแขนซ้ายยกเสมอบ่า
o ลังคะเลิมปัด ท่าก้าวไปตั้งหลักเบื้องหน้าปรปักษ์ โดยก้าวเท้าทั้งสองอย่างรวดเร็ว



สิละของมุสลิมภาคใต้ แบ่งออกเป็น 3 ประเภทคือ
• สิละยาโต๊ะ คือ สิละอาศัยศิลปะการต่อสู้ เมื่อฝ่ายหนึ่งรุกอีกฝ่ายหนึ่งต้องรับ ถ้ารับไม่ได้ก็จะตกไป เลยเรียกว่า สิละยาโต๊ะ (ตก) ส่วนมากใช้ในการแข่งขันประชันฝีมือ
• สิละตารี (รำ) คือ สิละที่ต่อกรด้วยความชำนาญในจังหวะลีลาการร่ายรำ ส่วนมากแสดงเฉพาะ หน้าเจ้าเมืองหรือเจ้านายชั้นสูง
• สิละกายอ (กริช) คือ สิละใช้กริชประกอบการร่ายรำไม่ใช้การต่อสู้จริง ๆ แต่อวดลีลากระบวนท่าทางต่อสู้ ส่วนมากแสดงในเวลากลางคืน

รวมความแล้ว จุดประสงค์ส่วนใหญ่ของสิละมุ่งศิลปะการร่ายรำมากกว่าศิลปะการต่อสู้แบบสม จริง ท่าทางยกไม้ยกมือมีส่วนคล้ายคลึงกับมวยจีนหรือกังฟู ชวนให้คิดไปว่าต้นกำเนิดสิละนั้น อาจมิใช่อย่าง Mubin Sheppard เสนอไว้ข้างต้นคงสืบเนื่องมาจากพ่อค้าจีน นำศิลปะของตนมาเผยแพร่ ณ เมืองปัตตานีครั้งโบราณ ตำนานปัตตานีมักปรากฏชาวจีนเข้ามาเกี่ยวข้องเสมอไม่ว่าเป็นตำนานของลิ่มโต๊ะ เคี่ยมนายช่างปืนใหญ่ นางพญาตานี และตำนานลิ่มกอเหนี่ยวผู้เป็นน้อง เมื่อชาวจีนเข้ามาค้าขายที่เมืองปัตตานีแล้วก็นำศิลปะการต่อสู้ของตนมาเผย แพร่ ผสมผสานกับมวยพื้นเมือง จึงเป็นศิลปะการต่อสู้แบบใหม่เรียกว่า สิละ อย่างไรก็ตาม ยังมีที่มาของสิละอีกหลายสำนวนซึ่งยังสรุปแน่นอนมิได้

กีฬาปันจักสีลัตในการแข่งขันกีฬาระดับนานาชาติ
กีฬาปันจักสีลัตที่มีการแข่งขันในระดับนานาชาติ ในปัจจุบันนี้อยู่ภายใต้กติกาและระเบียบการแข่งขันของสหพันธ์ปันจักสีลัต นานาชาติ ตั้งอยู่ ณ นครจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย ที่ได้จัดให้มีการแข่งขันปันจักสีลัตชิงแชมป์โลกมาแล้ว 7 ครั้ง ครั้งสุดท้ายจัดขึ้นที่อำเภอหาดใหญ่ ประเทศไทย ปีพ.ศ. 2537 มีนักกีฬาจาก 18 ประเทศเข้าร่วมในการแข่งขันครั้งนี้ และกีฬาปันจักสีลัตก็ได้รับบรรจุให้มีการแข่งขันเป็นครั้งแรก ในกีฬาซีเกมส์ ครั้งที่ 14 ณ นครจาร์กาตา ประเทศอินโดนีเซีย เมื่อปี พ.ศ. 2530 และได้มีการแข่งขันกีฬาซีเกมส์ในครั้งต่อ ๆ มาจนถึงปัจจุบัน ครั้งล่าสุดในกีฬาซีเกมส์ ครั้งที่ 20

กีฬาปันจักสีลัตในปัจจุบัน
กีฬาปันจักสีลัตได้เปลี่ยนโครงสร้าง โดยจัดประเภทของการแข่งขันซึ่งเดิมจัดให้มีการแข่งขัน 2 ประเภท ในการแข่งขันชิงแชมป์นานาชาติ และการแข่งขันชิงแชมป์โลก คือ ประเภทการต่อสู้จริง และการแสดงศิลปะการต่อสู้ (เป็นการแสดง) แต่การแข่งขันปันจักสีลัตในกีฬาซีเกมส์ ครั้งที่ 13-18 มีการแข่งขันเพียงประเภทเดียว คือ ประเภทการต่อสู้ ต่อมาได้มีการเปลี่ยนแปลงโดยแยกการแข่งขันออกเป็น 4 ประเภท เริ่มใช้เป็นครั้งแรกในการแข่งขันปันจักสีลัตชิงแชมป์โลก ปี 1997 ณ ประเทศมาเลเซีย และการแข่งขันกีฬาซีเกมส์ ครั้งที่ 19 ประเทศอินโดนีเซีย จนถึงปัจจุบัน

ข้อมูลจาก การกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.)
http://www.sat.or.th

รายการบล็อกของฉัน